โรงเรียนอนุบาลราชบุรี ได้เข้าร่วมเสวนา นำเสนอบูธการพัฒนาเด็กปฐมวัยในศตวรรตที่ 21 และเข้ารับโล่ในฐานะเป็นโรงเรียนขับเคลื่อนโครงการเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก

24 มีนาคม 2565 นายจักรพงษ์ พระไชยบุญ รองผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลราชบุรี พร้อมด้วยคณะครูสายชั้นปฐมวัย ได้เข้าร่วมเสวนา นำเสนอบูธการพัฒนาเด็กปฐมวัยในศตวรรตที่ 21 และเข้ารับโล่ในฐานะเป็นโรงเรียนขับเคลื่อนโครงการเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก จาก ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งได้เดินหน้าโครงการเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลกภายใต้แนวคิด “พลังแห่งการเล่น สู่พลังแห่งชีวิต” พร้อมด้วย นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย นายประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัช รองอธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์มณเฑียร คณาสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย แพทย์หญิงนพวรรณ ศรีวงศ์พานิช ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานสนับสนุนกการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายเชษฐา มั่นคง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก และภาคีเครือข่าย ร่วมงาน ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เด็กปฐมวัยเป็นวัยเริ่มต้นของชีวิตและพัฒนาการในทุกๆ ด้าน เป็นช่วงเวลาที่พัฒนาการด้านต่าง ๆ เป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด และเป็นรากฐานที่สำคัญสำหรับพัฒนาการในช่วงวัยต่อ ๆ ไป กระทรวงสาธารณสุขจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กปฐมวัยผ่านการเล่น โดยประกาศนโยบายเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก ส่งเสริมให้เด็กในวัยปฐมวัยได้มีโอกาสที่จะได้ “เล่น” เพราะการเล่น คือ การเรียนรู้ คือ การสร้างทักษะ เพื่อให้เด็กได้เติบโต อย่างเป็นธรรมชาติตามจังหวะของตนเองและค้นพบตัวตนในที่สุด โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น การยืน เดิน กระโดด ปั่น วิ่ง ปีน คลาน มุดลอด อย่างน้อย 180 นาที ต่อวัน ลดเวลาการเล่นจอ หรือดูโทรทัศน์ ที่มีผลเสียต่อการพัฒนาสมอง สมาธิ และเสี่ยงต่อภาวะออทิสติกเทียมและสมาธิสั้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบให้เด็กปฐมวัยขาดการพัฒนาการด้านต่าง ๆ เน้นกิจกรรมการเล่นกับเพื่อน ๆ เนื่องจากโรงเรียน สถานพัฒนาเด็กปฐมวัยเปิดสอนแบบออนไลน์ เด็ก ๆ ต้องใช้เวลาในการเรียนออนไลน์ ผ่านอุปกรณ์มือถือ แท็ปเล็ต อยู่ที่บ้าน “ทั้งนี้ การส่งเสริมการเล่นจึงเป็นการกระตุ้นสมองให้เปิดรับการเรียนรู้ ผ่านความรู้สึกสนุก ก่อให้เกิดวงจรการเรียนรู้และพัฒนาการที่รอบด้าน ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม จิตใจ สติปัญญา และช่วยเสริมทักษะการคิดเชิงบริหาร EF (Executive Function) ในการจัดการความคิด ความรู้สึกและการกระทำ การยั้งใจคิดไตร่ตรอง การควบคุมอารมณ์ การยืดหยุ่นทางความคิด การวางแผน ตั้งเป้าหมาย มุ่งมั่น แก้ไขปัญหา ช่วยเหลือตัวเองได้เมื่ออยู่ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง ด้วยตนเอง การปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน และพ่อแม่ผ่านการเล่น ซึ่งช่วงวัยปฐมวัย ตั้งแต่อายุ 2 – 6 ปี เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ (Golden opportunity) ในการพัฒนาทักษะ EF ให้กับเด็ก เพื่อเตรียมพร้อมก้าวเข้าสู่วัยเรียน วัยรุ่น และวัยทำงาน ให้สามารถปรับตัว อยู่ร่วมกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สามารถตั้งเป้าหมายชีวิตได้อย่างชัดเจน เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ พร้อมที่จะขับเคลื่อนโครงการเด็กไทยเล่นเปลี่ยนโลก ภายใต้แนวคิด “พลังแห่งการเล่น สู่พลังแห่งชีวิต”

ภาพกิจกรรมเพิ่มเติม

ใส่ความเห็น